fbpx

ขายของออนไลน์ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง? – ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เมษายน 10, 2021

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันนี้การขายของออนไลน์กลายเป็นอาชีพที่ทำเงินได้ดี และ ทำกันอย่างแพร่หลายมาก ๆ เพราะการขายของออนไลน์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน แถมยังทำควบคู่ไปกับงานประจำได้อีกด้วย

เมื่อการขายของออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นมา บวกกับความสามารถในการสร้างรายได้นั้นเพิ่มขึ้น แม่ค้า พ่อค้าร้านออนไลน์ ก็ต้องถูกเพ่งเล็งจากกรมสรรพากรเป็นธรรมดา เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ก็มีหน้าที่ในการเสียภาษีด้วยเช่นกัน ดังนั้นในบทความนี้ เราจะมาสรุปภาษีร้านค้าออนไลน์กันค่ะ ว่ามีอะไรบ้าง และ คำนวณอย่างไรบ้าง

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การขายของออนไลน์ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกในการขายของออนไลน์ในลักษณะของบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท ร้านค้าออนไลน์เหล่านี้จึงจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภทที่ 8 เงินได้จากการค้าขาย ซึ่งจะต้องยื่นภาษี 2 ช่วงเวลาต่อปี ดังนี้ค่ะ

  • ยื่นภาษีสิ้นปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. เป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา
  • ยืนภาษีกลางปี (ยื่นแบบ ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. เป็นการสรุปรายได้ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีภาษีแรกที่ผ่านมา โดยที่ ค่าลดหย่อน บางรายการจะถูกหักเหลือครึ่งหนึ่งด้วย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัวจะลดลงจาก 30,000 เหลือ 15,000

การคำนวณภาษี

การคำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดานั้น คำนวณได้ดังนี้ค่ะ 

(รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย 

สามารถคำนวณได้ 3 แบบ จุดสำคัญอยู่ที่ ค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อน นั่นเองค่ะ

*กรณีที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์มีรายได้ (ย้ำนะคะว่ารายได้ ไม่ใช่กำไร) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วยนะคะ โดยปัจจุบันยังจัดเก็บอยู่ที่ 7% ค่ะ

ค่าใช้จ่ายที่นำมาคำนวณภาษีได้

  • หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมา ขายไป ไม่ได้ผลิตเอง
  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง แต่กรณีนี้ต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ยื่นเยอะมาก
  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ คิดภาษี 0.5% หากคุณมีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาท (หนึ่งล้านบาท)

ก่อนที่จะมาดูกันว่าการลดหย่อนและอัตราภาษีมีอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจคำศัพท์ทางภาษีกันก่อนนะคะ

  • รายได้สุทธิ หมายถึง รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย และ ค่าลดหย่อนต่างๆ
  • ค่าลดหย่อน หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่สรรพากรประกาศให้นำมาหักลบกับรายได้
  • อัตราภาษี หมายถึง อัตราภาษีที่รัฐบาลประกาศ

การลดหย่อนภาษี

การลดหย่อนภาษี คือ รายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สรรพากรประกาศให้นำมาหักลบกับรายได้ เพื่อให้เราคำนวณ รายได้สุทธิ ออกมา และนำไปเปรียบเทียบคิดภาษีกับตารางอัตราภาษี หรือที่เรียกว่า การคำนวณภาษีแบบขั้นบันใดค่ะ

แต่ละปี สรรพากรจะประกาศลดหย่อนไม่เท่ากัน สำหรับของปี 2563 เพื่อยื่นภาษีในปี 2564 มีค่าใช้จ่ายอะไรที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้บ้างมาดูกันค่ะ

1. กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

2. กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน

3. กลุ่มลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์

4. กลุ่มเงินบริจาค

5. กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ

เงินได้สุทธิต่อปีอัตราภาษี
1. กลุ่มค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อนส่วนตัว60,000 บาท
ค่าลดหย่อนคู่สมรส60,000 บาท
ค่าลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 – 60,000 บาท
ค่าลดหย่อนบิดา – มารดาคนละ 30,000 บาท
ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพคนละ 60,000 บาท
ค่าฝากครรภ์และทำคลอดจ่ายตามจริงและไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
2. กลุ่มประกัน เงินออม และการลงทุน
ประกันสังคม5,850 บาท
เบี้ยประกันชีวิตทั่วไป/เงินฝากแบบมีประกันชีวิตตามที่จ่ายจริงแต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันสุขภาพตนเองจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
เบี้ยประกันสุภาพบิดา – มารดาจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท
เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
กองทุน กบข. / สงเคราะห์ครูฯ15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 50,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ (SSFX)จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช)13,200 บาท
3. กลุ่มลดหย่อนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
ดอกเบี้ยบ้านจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
โครงการซื้อบ้านครั้งแรก 2559120,000 บาท
4. กลุ่มเงินบริจาค
เงินบริจาคพรรคการเมืองจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท
เงินบริจาคเพื่อการศึกษา/ กีฬา/ การพัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ2 เท่าของเงินบริจาคตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
เงินบริจาคทั่วไปตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อน
5. กลุ่มค่าลดหย่อนตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ช้อปดีมีคืนจ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 23 ต.ค. – 31 ธ.ค. 2563

ข้อควรระวัง : สำหรับโครงการช้อปดีมีคืน มีข้อกำหนดเอาไว้ค่ะว่า ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ผู้ที่ลงทะเบียน ‘คนละครึ่ง’ จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืนได้นะคะ

อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ส่วนอัตราภาษี มีดังนี้ค่ะ

เงินได้สุทธิต่อปีอัตราภาษี
0 – 150,000*ได้รับการยกเว้นภาษี*
150,001 – 300,0005%
300,001 – 500,00010%
500,001 – 750,00015%
750,001 – 1,000,00020%
1,000,001 – 2,000,00025%
2,000,001 – 5,000,00030%
5,000,001 บาทขึ้นไป35%

ตัวอย่างเช่น 

นางสาว M ขายของออนไลน์มีรายได้ 1,000,000 บาท 

คิดภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายตามอัตราคือ 60% เท่ากับค่าใช้จ่าย 600,000 บาท

มีค่าลดหย่อนส่วนตัวเพียงอย่างเดียว 60,000 บาท

รายได้สุทธิของนางสาว M = 1,000,000 – 600,000 – 60,000 = 340,000 บาท

เงินได้สุทธิต่อปีรายได้นางสาว Aอัตราภาษีภาษีที่ต้องจ่าย
0 – 150,000150,000*ได้รับการยกเว้นภาษี*0
150,001 – 300,000150,0005%7,500
300,001 – 500,00040,00010%4,000
500,001 – 750,00015%
750,001 – 1,000,00020%
1,000,001 – 2,000,00025%
2,000,001 – 5,000,00030%
5,000,001 บาทขึ้นไป35%
รวม340,00011,500

และนี่ก็คือการคำนวณภาษี และ ภาษีที่ต้องเสีย สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัทไว้ ในบทความต่อไปเราจะเจาะลึกถึงภาษีขายของออนไลน์สำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลไว้ ซึ่งจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลกันค่ะ

อบรมเก็บชั่วโมงผู้ทําบัญชี ผู้สอบบัญชี (CPD) ออนไลน์ learncpd.com